ทำหนังมือถือ แบบมืออาชีพ ตอนที่ 1

ทำหนังมือถือ แบบมืออาชีพ ตอนที่ 1

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘บอลลีวู้ด’ ซึ่งจับเอา ‘บอมเบย์’ มาผสม ‘ฮอลลีวู้ด’ เพื่อหมายถึง วงการหนังอินเดียนอันยิ่งใหญ่ หรือกระทั่ง ‘นอลลีวู้ด’ ที่เกิดจาก ‘ไนจีเรีย’ บวก ‘ฮอลลีวู้ด’ และแปลว่า วงการหนังในจีเรียที่กำลังมาแรงพอกัน แล้วเทรนด์ใหม่ที่ขนานนามว่า ‘เซลลีวู้ด’ (Cellywood) ล่ะ…มันคืออะไรรึ? …จะเป็นอะไรไปได้ ถ้าไม่ใช่ ‘cellphone’ บวก ‘ฮอลลีวู้ด’ อันแปลรวบรัดได้ว่า วงการ ‘หนังมือถือ’ นั่นเอง! จริงอยู่ที่การ ‘ถ่าย’ หนังสั้นหรือคลิปวีดีโอด้วยมือถืออาจไม่ใช่ของใหม่ แต่การจงใจทำหนังสั้นขึ้นเพื่อใช้ ‘ฉาย’ บนมือถือโดยเฉพาะยังไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าคนเราจะอยากดูอะไร ๆ บนมือถืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวนัก เรื่องจากผลการสำรวจที่ผ่าน ๆ มาพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้มือถือเพื่อติดต่อโหลดริงโทน และถ่ายคลิปเล่น มีไม่ถึง 10% เท่านั้นที่จะโหลดวีดีโอมาดูจริง ๆ / อย่างไรก็ตาม ตลาดคนใช้มือถือที่โตขึ้นทุกวันก็ทำให้วงการหนังแอบคาดหวังเช่นกันว่า เจ้า ‘จอที่สี่’ นี้อาจกลายเป็นแหล่งเผยแพร่สำคัญในอนาคตสำหรับภาพยนตร์ก็ได้ (ถัดจากจอหนังโรง, จอมีวี และจอคอมพิวเตอร์) จึงไม่แปลกถ้าจะมีใครคิดลองกรุยทางดูสักตั้ง

Global Short Film Project

และมันเริ่มขึ้นแล้วในเทศกาลหนังซันแดนซ์หลายปีที่ผ่านมา เมื่อพวกเขากำเนิดโครงการ Global Short Film Project เพื่อเชื้อเชิญคนทำหนังอินดี้ระดับมืออาชีพ 6 คน มาทำหนังสั้น 5 เรื่อง สำหรับฉายทางอุปกรณ์มือถือ (ระบบ GSM) โดยเฉพาะ โจทย์ที่ได้รับนั้นน่าสนุกมาก นอกจากซันแดนซ์จะมีทุนให้อย่างอลังการถึงเรื่องละ 20,000 เหรียญ (6.5 แสนบาท….โอ้ว!) แล้ว ยังให้อิสระในการคิดทำเรื่องแนวไหนและถ่ายด้วยอะไรก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ) โดยมีเงื่อนไขแค่ต้องยาว 3 – 5 นาที, เหมาะกับการดูบนจอ 2×2 นิ้ว และหลีกเลี่ยงเนื้อหาซึ่งอาจกระทบความรู้สึกคนส่วนใหญ่หรือภาษาที่เฉพาะกลุ่มเกินไป เนื่องจากหนังทั้งหมดจะเปิดให้ผู้ใช้มือถือในกว่า 215 ประเทศทั่วโลกดาวน์โหลดได้
จอห์น คูเปอร์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของซันแดนซ์บอกว่า “โปรเจ๊คต์นี้น่าสนใจครับ เพราะตอนนี้คนนิยมส่งไฟล์ต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพากันขึ้นทุกที เราจึงบอกคนทำหนังว่าขอให้ตั้งใจมาก ๆ และเราอยากได้หนังที่หลากหลายด้วย เพราะเราเชื่อว่าศิลปินนี่แหละจะเป็นผู้กรุยทางสร้างสรรค์ให้แก่ทุก ๆ อย่างในโลกนี้” เราเลยขอแนะนำหนังมือถือทั้ง 5 เรื่องว่ามีกระบวนการคิดสร้างสรรค์อย่างไร พวกเขาตีความและทำมันด้วยวิธีไหน โดยในบทความนี้จะขอเสนอเรื่องแรก คืออะไร…ไปรู้จักกัน

A Slip in Time (จับตลกมาสโลว์โมชั่น) ผลงานของ : วาเลรี ฟาริส กับ โจนาฮาน เดย์ดัน (สามีภรรยาผู้กำกับหนังอินดี้เรื่องดัง Little Miss Sunshine)

ทำหนังมือถือสนุกตรงไหน : “สื่อใหม่ชนิดนี้เป็นสนามลองมือชั้นดี สำหรับคนทำหนังครับ” เดย์ตันบอก “แถมยังมีคนดูเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง และเป็นกลุ่มใหญ่ยักษ์ซะด้วย” / ตีโจทย์ยังไง : ทั้งคู่เริ่มด้วยการคลิกดูเว็บ YouTube เพื่อศึกษาว่า คลิปแบบไหนที่คนฮิตดูหรือส่งต่อ ๆ ให้กัน และพบว่า “ก็คือคลิปที่เป็นมุกคนเจ็บตัวน่ะเอง เช่น ภาพคนตกต้นไม้นะคะ ลูกชายอายุ 11 ขวบของเรา ก็ชอบดูคลิปแบบนี้เหมือนกัน” ฟาริสเล่า ซึ่งนั่นแหละ ที่ทำให้เธอกับเดย์ตันปิ๊งไอเดียเด็ด ก่อนจะจินตนาการต่อว่า “เราได้ยินว่าหนังสั้นมือถือจะเข้าถึงคนทั่วโลกได้ด้วย เราก็นึกหนังเก่ายุคที่มันยังสื่อสารกับคนทักชาติทุกภาษาได้ ซึ่งก็คือ หนังเงียบที่เน้นการเล่าด้วยภาพล้วน ๆ ค่ะ” / พวกเขาทำหนังอะไร : ผลของจินตนาการกลั่นออกมาเป็นหนังเงียบ 4 นาที ที่ถ่ายชายสองคนกำลังเล่นมุกตลกเจ็บตัว เช่น เหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้ม, โดนขนมเค้กปาหน้า ฯลฯ โดยจับภาพสโลว์โมชั่นให้ตนดูเห็นรายละเอียดช้า ๆ และฟาริสกับเดย์ตันเห็นว่า เนื่องจากจอมือถือเล็กมากจึงไม่จะเหมาะกับหนังที่มีบทพูดเยอะ การแสดงยาก ๆ หรือภาพฉายหลังซับซ้อน จึงเลือกถ่ายให้เรียบง่ายที่สุด ด้วยการให้นักแสดงมาเล่นหน้าฉากสีดำเท่านั้น
หลังงานเสร็จสิ้น เดย์ค้นพบว่า “มือถือมีศักยภาพน่าสนมาก แต่มันไม่เหมาะกับการใช้ดูหนังใหม่นะ ผมว่าหนังที่เหมาะควรเป็นหนังสั้น ๆ หรือหนังที่เสนอประเด็นบางอย่างเป็นการเฉพาะ เช่น โฆษณารณรงค์ทางการเมือง” ส่วนฟาริสบอกว่า “ถ้ามือถือช่วยสร้างชุมชนแบบใหม่ได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ฉันกลัวว่ามันจะยิ่งทำให้คนเราโดดเดี่ยวจากกันมากขึ้นน่ะสิ สำหรับฉัน ข้อดีของการดูหนังในโรงก็คือ เราได้แบ่งปันความรู้สึกกับคนอื่น ฉะนั้นโจทย์สำคัญสำหรับการทำหนังมือถือคงคือ จะทำยังไงให้เกิดวัฒนธรรมการส่งต่อหนังไปยังคนอื่น ๆ ให้ได้ / ผู้เขียน ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ (หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ฟิ้ว” ฉบับที่ 8 และการตีพิมพ์ใหม่นี้ได้รับอนุญาตจากนิตยสาร “ฟิ้ว” แล้ว)