“ถ้าดูหนังมาเยอะจะเห็นโดยอัตโนมัติว่าอันนี้เขาใช้เพื่อสื่อถึงอะไร อันนั้นมีเพื่ออะไร แต่ตอนที่เราเพิ่งเริ่มดูหนังถ้าเราเห็นแล้วก็จะ โห…เขาคิดออกมาได้ยังไงกัน มันมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง เป็นความตื่นเต้นความสนุกของการได้ดูหนัง” – อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
หัวใจสําคัญของแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม เปรียบก็เหมือนกับการสร้างบ้านสักหลัง ที่ต้องประกอบไปด้วยเสา คาน หลังคา เพดาน พื้น เพื่อให้มันเกิดเป็นบ้านหลังหนึ่งขึ้นมา หรือ ภาษาที่ต้องมีวรรณยุกต์ พยัญชนะ สระมาก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นรูปของเสียง ซึ่งโยงมากับการสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง ก็จะมีเรื่องภาษาภาพยนตร์ เช่น การใช้ภาพขนาดแบบนี้มาตัดต่อแบบนี้ ใช้น่านี่นั่นมาประกอบกันเป็นเรื่องเป็นราว
พอมาถึงหลังยุคโครงสร้างนิยม ก็จะเริ่มมาให้ความสนใจกับสัญญลักษณ์ต่างๆ ที่ว่าของทุกอย่างมันไม่ได้มีความหมายเฉพาะในตัวเอง เช่น อย่างเราเคยเห็นเครื่องหมายถูก เราก็จะรู้เลยว่า นี่ไม่ใช่แค่ลายเส้นรูปขีดขึ้นเท่านั้น แต่มันคือโลโก้ของรองเท้ายี่ห้อดัง หรืออย่างเมื่อโบราณกาลมาแล้วไฟสีแดงไฟสีเขียวไฟสีเหลืองก็ไม่ได้มีความหมายอะไร แต่แล้ววันหนึ่งมันถูกตั้งกฎกติกให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการจราจร ผู้คนทั้งโลกจึงต้องยอมรับและต้องทำตามเมื่อคุณใช้รถใช้ถนน เมื่อเห็นไฟสีแดง ไฟเหลืองหมายถึงเตรียมตัว ไฟเขียวขึ้นหมายถึงไปได้แล้ว
ทุกอย่างบนโลก ไม่ได้มีความหมายอยู่แต่แรก มนุษย์คือคนที่ใส่ความหมายให้กับสิ่ง ๆ นั้น อย่างในเชิงภาษาศาสตร์ เขียน ห.หีบ ม.ม้า สระอาในภาษาไทย ออกเสียงว่าหมา แปลว่าสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะอธิบายได้ว่าทําไมจึงต้องใช้คำนี้ ทำไมภาษาอังกฤษถึงเรียกหมาว่า dog ทําไมภาษาญี่ปุ่นถึงเป็นอินุ ซึ่งอธิบายไม่ได้คือมันไม่มีกติกาอะไรทั้งนั้นเป็นเรื่องของเขาที่เรียกตามๆกันมา เรียกว่าตามอําเภอใจก็ใช่ แต่สิ่งเหล่านี้มันนํามาสู่วิชาสัญญาวิทยา
ก็คือ สิ่ง ๆ นี้ไม่ได้มีความหมายในตัวเอง แต่เราใส่ความหมายเข้าไปเพื่อสื่อแทนอะไรบางอย่าง เช่น เครื่องหมายเปิดปิดคอมฯมันจะเป็นรูปกลมๆแล้วมีขีดข้างบน เราก็พอเดาได้ว่า เป็นรูปนิ้วใช้กดลงไปเพื่อเปิดหรือปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือรูปไม้กางเขนเท่ากับศาสนาคริสต์ หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์แทนหลุมฝังศพก็ได้
Motive คืออีกอย่างที่เรามักเจออยู่ในหนัง motive คือการใช้สิ่งของหรืออะไรสักอย่างเพื่อจะสื่อความหมายที่สัมพันธ์กับเรื่อง เช่นหนังเรื่อง forest gump ใช้กล่องช็อกโกแลต ที่เปิดออกมาแล้วก็ไม่รู้หรอกว่าสอดไส้อะไรในช็อกโกแลตแต่ละเม็ด เปรียบกับทอมแฮงค์ที่ผจญภัยไปตามที่ต่างๆโดยที่เขาไม่ได้วางแผนว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง หรือฉากขนนกลอยละลิ่วทั้งฉากเปิดและฉากปิดก็สะท้อนถึงชีวิตของพระเอกที่เหมือนจะลอยไปตามลม โลดแล่นไปเรื่อยโดยไม่ต้องมีเป้าหมายใด ๆ
เจอสัญญะเหล่านี้คนดูจบแล้วกลับมานึกถึง ก็จะตัดสินได้เองว่าที่ใส่เข้าไปนั้นมันเวิร์ครึเปล่า แต่ที่เคยเจอมาก็คือคนดูบางคนมักจะตีความกันจนเลยเถิด เช่น ขนนกปลิวอย่างนั้นก็คือเรื่องการครอบงำสังคมของทุนนิยม ฯลฯ
จริงๆแล้วการจะตีความกันอย่างไรนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดอะไรนัก แต่ก็ควรจะพิจารณากันก่อนว่าหนังพยายามเล่าเรื่องหรือมีเป้าหมายอะไรกันแน่ การตั้งวงคุยกันถกกันกับเพื่อนๆก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ
บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ใน fuse. In Sequence